สังคมไร้เงินสด


ความหมาย และที่มาของคำว่า “สังคมไร้เงินสด”

ในยุคปัจจุบันได้มีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งหลัก ๆ แล้วคงหนีไม่พ้นการใช้อินเตอร์เน็ต และอุปกรณ์สื่อสารมือถือ ซึ่งการมาของเทคโนโลยีสารสนเทศเหล่านี้ยังเป็นแรงผลักดันให้การใช้จ่ายเงินตราด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีธุรกรรมการโอนเงิน การชำระเงินผ่านตัวกลางโดยไม่ต้องถือธนบัตร หรือเงินสดก็สามารถชำระเงินได้ ทำให้มีความรวดเร็วในการทำธุรกรรมทางการเงินและเป็นการเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย

สังคมไร้เงินสด คือ สังคมที่จับจ่ายใช้สอย หรือซื้อขายสินค้า และบริการโดยไม่ใช้เงินสดเลย โดยการทำธุรกรรมทุกอย่างจะผ่านผู้ให้บริการกระเป๋าเงินออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Mobile Banking บัตรเครดิต หรือบัตรเดบิต ซึ่งเงินตราที่ใช้นั้น ก็ยังคงเป็นสกุลเงินที่ใช้กันอยู่ และยังสามารถแลกเปลี่ยนกลับไปมาระหว่างเป็นธนบัตรและเงินอิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นกัน โดยทางเว็บไซต์วิกิพีเดีย ได้มีคำจำกัดความไว้ว่า “สังคมไร้เงินสด เป็นคำอธิบายภาวะทางเศรษฐกิจที่ธุรกรรมทางการเงินมิได้ดำเนินการด้วยเงินในรูปธนบัตรหรือเหรียญที่จับต้องได้ แต่เป็นการโอนสารสนเทศดิจิทัล (ปกติเป็นตัวแทนอิเล็กทรอนิกส์ของเงิน) ระหว่างภาคีผู้ทำธุรกรรม ธุรกรรมไร้เงินสดสามารถเกิดขึ้นได้โดยใช้เงินตราดิจิทัลอย่างเช่น บิตคอยน์”

สังคมไร้เงินสดในประเทศไทย
ในรัฐบาลปัจจุบัน(ปี 2561)นี้ ได้สนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 ซึ่งในนโยบายนั้นจะเปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ซึ่งจากนโยบาย Thailand 4.0 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2559 ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศได้เปิดบริการ "พร้อมเพย์" (PromptPay) และเกิดการร่วมมือกับธนาคารใหญ่ในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นแรงผลักดันอย่างแรงที่ทำให้เกิดสังคมไร้เงินสดได้รวดเร็วขึ้นในประเทศไทย

"พร้อมเพย์" (PromptPay) คือ เป็นระบบการเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment) ซึ่งธนาคารที่เข้าร่วมบริการทั้งธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ และธนาคารเอกชน จะสามารถโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น โดยจะโอนเงินโดยใช้หมายเลขโทรศัพท์ หรือหมายเลขบัตรประชาชนที่ผูกไว้กับบัญชีของธนาคารนั้น ๆ แทนการระบุหมายเลขบัญชีผู้รับเงิน นั่นหมายความว่า ผู้โอนเงินจะสามารถโอนเงินไปยังผู้รับเงินได้โดยไม่จำเป็นจะต้องรู้หมายเลขบัญชี และชื่อธนาคาร ก็สามารถโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ได้โดยเพียงแค่ระบุหมายเลขโทรศัพท์ หรือบัตรประจำตัวประชาชนเท่านั้น จากนั้นผุ้รับเงินโอนก็จะได้รับเงินโอนตามปกติ ทั้งนี้พร้อมเพย์ยังไม่คิดค่าธรรมเนียมการโอน ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่หันมาใช้บริการมากขึ้น

จากการเกิดขึ้นมาของพร้อมเพย์นั้น ส่วนธุรกิจก็นำมาใช้โดยการพัฒนาการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์ด้วย QR Code เพื่อความสะดวกและรวดเร็วขึ้น และไม่จำเป็นต้องกรอกตัวเลขให้ยุ่งยาก ก็สามารถโอนเงินได้ และเป็นจุดที่ทำให้ผู้คนหันมาสนใจใช้บริการ Mobile Banking เพิ่มยิ่งขึ้น

ไม่ว่าร้านค้ารายใหญ่รายเล็กได้มีการพัฒนาช่องการการรับชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นการรับชำระเงินออนไลน์ด้วยบัตรเครดิต บัตรเดบิต  และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-wallet) เช่น Line Pay, True e-wallet, AirPay เป็นต้น ช่องทางเหล่านั้นจึงถือได้ว่าเป็นส่วนที่ทำให้เกิดสังคมไร้เงินสด

ข้อดี ข้อเสียกับการเกิดสังคมไร้เงินสด

การทำให้เกิดสังคมไร้เงินสดนั้นย่อมทำให้เกิดผลดีมากกว่าผลเสียอยู่แล้ว ซึ่งข้อดีที่จะเห็นได้ชัดเจนนั้นก็คือมีการทำธุรกรรมการเงินผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มีความรวดเร็วเป็นอย่างมากทำให้เศรษฐกิจนั้นโตได้เร็วขึ้นเช่นกัน อีกทั้งยังลดต้นทุนการพิมพ์ธนบัตรและเหรียญ และลดต้นทุนการขนย้ายธนบัตรและเหรียญลงอย่างมหาศาล มีการใช้จ่ายเงินอย่างเป็นระบบมีการตรวจสอบได้ ลดการฟอกเงินที่เกิดจากธุรกิจมืด

ข้อเสียที่คาดว่าจะเกิดขึ้น คือ การใช้งานอยู่บนเทคโนโลยีที่ต้องพึงพาพลังงานไฟฟ้า และเคลื่อข่ายอินเตอร์เน็ต เมื่อขายตัวสื่อกลางก็จะทำให้ไม่สามารถทำธุรกรรมการเงินได้ และมีความเสี่ยงของการโจรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ดังนั้นในเมื่อจะต้องพัฒนาไปสู่สังคมไร้เงินสด สิ่งที่ต้องพัฒนาไปร่วมกันก็คือ การพัฒนาระบบความปลอดภัยอิเล็กทรอนิกส์เช่นกัน

ในเมื่อสังคมไร้เงินสดสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้จับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น สิ่งที่ควรระวังให้มากไปยิ่งกว่า คือ การใช้จ่ายอย่างมีสติ โดยพึงประเมินตนเองในการใช้จ่าย อาจจะทำให้เกิดการเปิดหนี้สินเกิดขึ้นตามมาได้

เอกสารอ้างอิง
JK CFP. (2560). สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) อนาคตที่น่าจับตามองของสังคมไทย. ค้นเมื่อ 16 เมษายน 2561, จาก https://finance.rabbit.co.th/blog/cashless-society
สังคมไร้เงินสด. (2561). ค้นเมื่อ 16 เมษายน 2561, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/สังคมไร้เงินสด
กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ สำนักโฆษก. (2560). ข่าวทำเนียบรัฐบาล, ค้นเมื่อ 16 เมษายน 2561, จาก http://www.thaigov.go.th/news/contents/details/3981
Dr.borworn. ประเทศไทย 4.0 โมเดลเศรษฐกิจใหม่. ค้นเมื่อ 16 เมษายน 2561, จาก http://www.drborworn.com/articledetail.asp?id=16223
พร้อมเพย์ (PromptPay) คืออะไร บริการโอนเงินแบบใหม่ รู้แค่เบอร์มือถือก็โอนได้. (2559). ค้นเมื่อ 16 เมษายน 2561, จาก https://money.kapook.com/view150539.html

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งจากการศึกษาของวิชา RAM6003 บัณฑิตศึกษา 

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

การวิ่ง และเส้นชัย

เรียนรู้จากธรรม(ะ)ชาติ